ในปี พ.ศ.2483 สถานีทหารเรือสัตหีบ ได้ก่อสร้างโรงกำเนิดไฟฟ้าขึ้น 1 โรง ตั้งอยู่ข้างโรงเรียนสัตหีบ สาขา 1 เขตฐานทัพเรือสัตหีบ ประกอบด้วยเครื่องไฟฟ้าเมอร์รีส 3 เครื่อง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเครื่องละ 275 กิโลวัตต์ เดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับหน่วยราชการในพื้นที่ อำเภอสัตหีบ ได้แก่ สถานีทหารเรือสัตหีบ กรมนาวิกโยธิน โรงเรียนพลทหารเรือ หน่วยบินนาวี และตลาดสัตหีบ (ตลาดนี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2480 ในสมัยที่ พล.ร.ต.หลวงประจญ ปัจจามิตร เป็น ผบ.สน.สส.)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 O.I.C.C. (Officer InchargeConstruction Center ) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านกิจการทหารของไทย โดยเพิ่มขีดความสามารถการจ่ายกระแสไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 700 เค.วี.เอ. (560 กิโลวัตต์) เพิ่มขึ้นอีก 2 เครื่อง และเปลี่ยนระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าจาก 3500 โวลท์ เป็น 11 กิโลโวลท์ (K.V.) รวมทั้งปรับปรุงเสาไฟฟ้าโดยเปลี่ยนจากเสาไม้มาเป็นเสาคอนกรีต
ในปี พ.ศ. 2509 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขยายเขตจำหน่ายกระแสไฟฟ้ามาถึงอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยที่ 1 ขึ้นที่ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ดังนั้น ทร. จึงได้ยกเลิกเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีอยู่ และได้ซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาจ่ายให้แก่หน่วยราชการและประชาชนในราคาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถือปฏิบัติ
ในปี พ.ศ. 2512 ทร.ได้สถาปนาหน่วยงานดังกล่าวเป็น “กิจการไฟฟ้าและประปา” และย้ายสำนักงานจากโรงกำเนิดไฟฟ้าแห่งเดิม มาอยู่ ณ ที่ทำการของ O.I.C.C. ซึ่งเป็นสำนักงานของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบ ในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ.2514 ได้ตัดชื่อคำว่า “และประปาออก” คงเหลือแต่ชื่อ “กิจการไฟฟ้า” แต่เพียงอย่างเดียว
เมื่อ 14 มกราคม 2514 ทร.ได้รับสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้าครั้งแรก จากกระทรวงมหาดไทย มีอายุสัมปทาน 10 ปี
เมื่อหมดอายุสัมปทานครั้งแรก ทร. ได้ขอต่ออายุสัมปทานออกไปอีกและได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการไฟฟ้าต่อไปอีก10ปีตั้งแต่ 14 มกราคม 2524 โดยหมดอายุสัมปทานใน 14 มกราคม 2534
เมื่อสิ้นอายุสัมปทานครั้งที่ 2 ทร. ได้ขอต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีและได้รับอนุมัติตั้งแต่ 6 มิถุนายน 2533 หมดอายุสัมปทานใน 6 มิถุนายน 2543
เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานครั้งที่ 3 ทร. ได้ขอต่ออายุสัมปทานต่อไปอีก แต่เนื่องจากเกิดข้อขัดข้องในขั้นตอนงานธุรการ จึงทำให้ระยะเวลาของสัมปทานครั้งที่ 3 และ 4 ไม่ต่อเนื่อง จนในที่สุดใน 13 สิงหาคม 2541 ทร. ได้ร้องขอและได้รับการต่ออายุสัมปทานต่อไปอีก 25 ปี นับตั้งแต่ 6 มิถุนายน 2543 โดยมีเงื่อนไขว่า ทร. จะต้องสร้างโรงผลิตไฟฟ้าเอง โดยจ่ายให้แก่หน่วยงานราชการ และประชาชนในเขตสัมปทานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากได้รับสัมปทาน หากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ อายุสัมปทานจะลดเหลือ 10 ปี แต่ ทร. ก็ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ
เมื่อมิถุนายน 2545 ทร. ได้ขอขยายเวลาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าออกไปอีก 4 ปี ถึง พ.ศ.2547 ซึ่งได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อสิงหาคม 2545
อนึ่ง ทร. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทร. ในพื้นที่อำเภอสัตหีบเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนมาลงทุนดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบริษัทที่มีคุณสมบัติที่จะเข้ามาดำเนินการ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 4,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีปัญหาในด้านต่าง ๆ อีก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่สำเร็จได้ ทร.โดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัตหีบก็ได้จัดทำโครงการต่างๆมากมายเพื่อขยายขีดความสามารถของระบบจำหน่ายไฟฟ้าเช่น
- การบริการและการซ่อมบำรุง เพื่อความมั่นคงในระบบจำหน่าย
- บริการชำระเงินค่าไฟฟ้าด้วยการหักบัญชีธนาคารพาณิชย์
- โครงการเพิ่มสถานีรับชำระค่าไฟฟ้า (สำนักงานย่อย สาขาโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พร. สำนักงานย่อย สาขาศูนย์การฝึก สอ./ รฝ. และชำระเงินค่าไฟฟ้าด้วยบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส)
- การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน ด้วยการฝึกอบรมร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
- โครงการก่อสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าแรงสูง 3 และปรับปรุงสถานีจ่ายไฟฟ้าแรงสูง 2 และ 1
- โครงการติดตั้งระบบควบคุมและการสั่งการระยะไกล เป็นต้น